ผีอำผีหลอก ที่แท้ไม่ใช่ผีหรอกคนคิดไปเอง เรื่องนี้จริงหรือไม่
March 1, 2022ผีอำมีจริงไหม หากไม่ใช่แล้วคืออาการอะไรกันแน่
บ่อยครั้งที่คนเรากำลังหลับใหลในห้วงราตรีอยู่เพลิน ๆ ร่างกายกลับรู้สึกอึดอัด ไม่เป็นตัวเอง ความรู้สึกคล้ายกับมีบางสิ่งบางอย่างกำลังกดทับร่างกาย จนทำให้ไม่สามารถขยับเคลื่อนไหวไปไหนได้ ทำได้เพียงนอนกลอกลูกตาไปมาเท่านั้น หากคุณเล่าอาการนี้ให้คนเฒ่าคนแก่ หรือคนที่มีความเชื่อฟัง ร้อยทั้งร้อยคงฟันธงว่านี่เป็นอาการผีอำแน่นอน สิ่งแรกที่หลายคนแนะนำคือการทำปากขมุบขมิบ เพื่อท่องบทสวดที่เคยจำจนครบตำราเพื่อให้สิ่งที่มองไม่เห็นเห็นใจและจากไปแต่โดยดี
แต่รู้หรือไม่ว่านอกจากตามหลักไสยศาสตร์ที่หลายคนเชื่อแล้ว ในแง่ของวิทยาศาสตร์ก็มีข้อมูลเกี่ยวกับอาการดังกล่าวเหมือนกัน จะมีข้อมูลเป็นอย่างไรวันนี้เรารวบรวมมาฝากแล้ว
แบบไหนถึงเรียกว่า “ผีอำ”
ผู้ที่ตกอยู่ในอาการผีอำ มักมีอาการเหมือนร่างกายเป็นอัมพาตทั้งตัวแบบเฉียบพลัน รู้สึกหมดแรงไปดื้อ ๆ ไม่สามารถขยับแขนขาได้ พูดออกเสียงไม่ได้ และรู้สึกหายใจลำบากเหมือนมีใครสักคนมานั่งทับ ที่สำคัญจะอู่ในภวังค์คืออาการกึ่งหลับกึ่งตื่น บางคนฝันร้าย เห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงปริศนา และแต่ละครั้งที่เป็นจะใช้เวลาไม่นาน (แต่บางคนอาจรู้สึกเหมือนนานมากๆ)

ผีอำมีจริงไหม หากไม่ใช่แล้วคืออาการอะไรกันแน่
เมื่อสะดุ้งตื่นขึ้นมาแบบ 100% บางคนจะรู้สึกหวาดกลัวทันที เหงื่อแตก รู้สึกไม่ปลอดภัย เพราะมีความรู้สึกเหมือนว่าตัวเองเพิ่งพ้นนาทีชีวิตมาแบบหมาด ๆ โดยในแง่ของวิทยาศาสตร์ได้อธิบายว่าอาการเหล่านี้เป็นภาวะที่ร่างกายเข้าสู่ห้วงการหลับทั้ง ๆ ที่ยังตื่นอยู่ หรือเรียกอีกอย่างว่าโรคลมหลับ ง่าย ๆ คือร่างกายจะเข้าสู่สภาวะของการหลับ แต่จิตใต้สำนึกยังคงตื่นอยู่ ทำให้รู้สึกขยับตัวไม่ได้และเหมือนกับคนเป็นอัมพาตเฉียบพลันนั่นเอง และในทางวิทยาศาสตร์ยังบอกอีกว่า อาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นมาจากภูตผีปีศาจแต่อย่างใด แต่เกิดมาจากความผิดปกติของร่างกายเวลานาน โดยทางการแพทย์เรียกว่า Sleep Paralysis เป็นภาวะที่ร่าวกายรู้สึกตัว แต่ไม่สามารถเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ได้ สังเกตดูได้ว่าเราแทบไม่เคยเจอคนที่ถูกผีอำขณะยังตื่นหรือมีสติเลยสักคน โดยอาการผีอำสามารถแบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ
1. ผีอำในช่วงใกล้หลับ
เรียกว่า Predormital Sleep Paralysis เป็นช่วงเวลาที่ร่างกายอยู่ในภาวะผ่อนคลาย เมื่อมีอาการผีอำเกิดขึ้นในช่วงนี้ จะทำให้คนมักไม่รู้สึกตัว อาจจะมีเพียงแค่อาการรับรู้ว่าขยับตัวไม่ได้หรือพูดไม่ได้เท่านั้น
2. ผีอำในช่วงใกล้ตื่น
เรียกว่า Postdormital Sleep Paralysis โดย 75% ของคนที่มีอาการผีอำมักเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ โดยคนเรามักจะสะดุ้งตื่นและรู้สึกตัวในขณะที่ช่วงหลับฝันยังไม่สิ้นสุด มักมีอาการแน่นหน้าอก อึดอัด ร่วมกับอาการขยับร่างกายไม่ได้ พูดไม่ได้ และมักจะอยู่ไม่เกินกว่า 5 – 10 นาที

ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการผีอำ หรือ Sleep Paralysis
ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการผีอำ หรือ Sleep Paralysis
- นอนหลับไม่ดี นอนหลับไม่เพียงพอ หรือนอนไม่หลับ เพราะเมื่อร่างกายอยู่ในภาวะนี้นานเข้าก็อาจเกิดมีผีอำขึ้นมาได้
- อาชีพที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงเวลานอนอย่างสม่ำเสมอ เช่น แอร์โฮสเตส ยาม พยาบาล แพทย์ ที่เปลี่ยนช่วงเวลาทำงาน ต้องอยู่เวรดึกสลับกับเวรเช้า มักเกิดภาวะดังกล่าวได้มากกว่าอาชีพที่สามารถเข้านอนเป็นเวลาได้
- ปัญหาสุขภาพจิต เช่น ความเครียด หรือผู้ป่วยสภาวะอารมณ์สองขั้ว (Bipolar Disorder)
- การใช้ยารักษาโรคบางชนิด เช่น ยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้น, ยานอนหลับ, ใช้สารเสพติด ฯลฯ
ไม่อยากไล่ผี แต่อยากไล่อาการผีอำ ทำอย่างไร
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และพยายามเข้านอนให้ตรงเวลา
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่ก่อนนอน
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีน
- หากมีอาการเหนื่อยให้รีบเข้านอนทันที หากฝืนอาจทำให้ร่างกายเพลียจัด แต่จิตใต้สำนึกยังคงตื่นอยู่เช่นเดิม
- ผ่อนคลายตนเองก่อนเข้านอน เช่น ฟังเพลง อ่านหนังสือ หรือหากิจกรรมที่ชอบทำ
- เปลี่ยนท่านอนให้นอนตะแคงหรือนอนคว่ำแทนการนอนหงาย
- ออกกำลังเป็นประจำแต่ไม่ควรออกกำลังกายก่อนนอน เพราะจะทำให้ร่างกายรู้สึกตื่นมากกว่าปกติ
- จัดห้องนอนให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกและใช้ที่ปิดตา หรือเลือกใช้ผ้าม่านทึบแสง เพื่อป้องกันแสงสว่างจากภายนอกรบกวนเวลานอน
อาการผีอำดูเผิน ๆ เหมือนอาการที่ไม่รุนแรง แต่หากเมื่อไหร่ที่มีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อย ๆ ก็เป็นสัญญาณเตือนว่าร่างกายของคุณเริ่มมีปัญหาแล้ว หากปล่อยเอาไว้อาจส่งผลกระทบต่อสภาพร่างกายและสภาพจิตใจในระยะยาวได้ ดังนั้นหากพบความผิดปกติให้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการนอนหลับอย่างเร่งด่วน หรือเลือกใช้ประกันสุขภาพเพื่อเข้าไปปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อหาทางออกที่ถูกก็ได้เช่นกัน